วิชาห้องสมุด

ความหมายของห้องสมุด

ห้องสมุด ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Library มาจากศัพท์ในภาษาละตินว่า Liber แปลว่าหนังสือ โดยในอดีตห้องสมุดทำหน้าที่ เป็นแหล่งจัดเก็บหนังสือ เป็นการอนุรักษ์ความรู้ ส่วนในภาษาไทยจะใช้คำกลางๆ ว่า ห้องสมุด
ในปัจจุบัน มีคำอื่นๆ ที่หน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่จัดเก็บและให้บริการสารสนเทศนิยมใช้ในความหมายของคำว่าห้องสมุด เช่น ห้องสมุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้คำว่า ห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ ห้องสมุดของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ใช้คำว่า สำนักบรรณสารการพัฒนา ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ใช้คำว่า สำนักบรรณสารสนเทศ และมีห้องสมุดมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ใช้คำว่า สำนักห้องสมุด สำนักหอสมุดกลาง ต่อด้วยชื่อสถาบันการศึกษานั้นๆ เป็นต้น
ห้องสมุด หมายถึง สถานที่เก็บรวบรวมและให้บริการวัสดุหรือทรัพยากรสารสนเทศแก่สมาชิก โดยมีบรรณารักษ์หรือนักสารสนเทศ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตั้งแต่ การจัดหา การจัดเก็บ และการให้บริการ ตลอดจนดูแลบำรุงรักษาทรัพยากรสนเทศ (ลมุล รัตตากร, 2539 : 27)
ปัจจุบัน จากพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ มีการผลิตวัสดุสารสนเทศจำนวนมาก ทั้งปริมาณและรูปแบบที่หลากหลาย การค้นหาข้อมูลสารสนเทศสามารถสืบค้นได้จากทั่วโลก โดยการสืบค้นผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ห้องสมุดมีการเปลี่ยนแปลง มีการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ดำเนินงาน เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บค้นหา และเผยแพร่สารสนเทศของห้องสมุดได้ทันต่อความก้าวหน้าของวิทยากร และข่าวสารต่างๆ ที่ออกมาทุกรูปแบบ และปรับเปลี่ยนการให้บริการจากเดิม แทนที่จะให้บริการเชิงรับในรูปแบบที่อนุรักษ์ หวงแหน และคอยให้ผู้ใช้บริการมาหา เปลี่ยนเป็นการให้บริการเชิงรุก นำเสนอสารสนเทศต่อผู้ใช้มีการให้บริการสารสนเทศที่มีคุณค่าหลากหลายรูปแบบอย่างสะดวก รวดเร็ว ทันเวลา ไม่จำกัดระยะเวลา สถานที่ และพยายามดำเนินการให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสารสนเทศทุกประเภทด้วยความสะดวก รวดเร็ว มีการจัดการทรัพยากรสารสนเทศในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จนกลายมาเป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้น ห้องสมุดในอนาคตจึงเป็นแหล่งสั่งสมความรู้ของมนุษยชาติเป็นจำนวนมาก ที่มนุษย์สามารถ แสวงหาความรู้ได้อย่างกว้างขวางโดยไม่มีกำแพงขวางกั้น หรือเรียกว่า ห้องสมุดปราศจากกำแพง (Library without walls) และมีรูปแบบใหม่ๆ ของห้องสมุด มีชื่อเรียกต่างกัน เช่น ห้องสมุดดิจิทัล (Digital Library) ห้องสมุดประสม (Hybrid Library) หรือห้องสมุดเสมือน (Virtual Library) เป็นต้น
ไม่มีบทความ
ไม่มีบทความ